ศูนย์วัฒนธรรมไทโส้กุสุมาลย์


ประวัติความเป็นมาของงานเทศกาลโส้รำลึก
งานเทศกาลโส้รำลึกอำเภอกุสุมาลย์
เมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๒๔  ข้าราชการ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและประชาชน  ชาวอำเภอกุสุมาลย์   ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อตั้งศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทโส้ขึ้นเพื่อเป็นพี่เก็บรวบรวมสิ่งของวัตถุโบราณต่างๆ  ของชาวไทโส้  ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและได้สร้างอนุสาวรีย์  “พระอรัญอาสา”  เจ้าเมืองเก่าไว้  ณ  บริเวณศูนย์ศิลปวัฒนธรรมไทโส้เพื่อให้ลูกหลานชาวไทโส้และประชาชนทั่วไปได้สักการบูชา  ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์ราชการอำเภอกุสุมาลย์  และในปี  พ.ศ.  ๒๕๒๕  ได้มีการจัดงานเพื่อแสดงศิลปวัฒนธรรมของชาวไทโส้ขึ้นเป็นครั้งแรก  เมื่อวันที่  ๒๘  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๒๕  ตรงกับวันขึ้น  ๔  ค่ำ  เดือน  ๓  โดยใช้ชื่อว่า  “งานเทศกาลโส้รำลึก”  ซึ่งเป็นการจัดหลังวันที่ชาวไทโส้ทำพิธีเยา  การเซ่นไหว้ผีบรรพบุรษ  และการสู่ขวัญเจ้าขวัญเรือนจริง  ๑  วัน  คือ  วันขึ้น  ๓  ค่ำ  เดือน  ๓  ของทุกปี
ดังนั้น  ในวันที่  ๒๓ – ๒๕  มกราคม  พ.ศ.  ๒๕๕๘  ซึ่งตรงกับวันขึ้น  ๔ – ๖  ค่ำ  เดือน  ๓  อำเภอกุสุมาลย์  โดยเทศบาลตำบลกุสุมาลย์  ร่วมกับคณะกรรมการศูนย์วัฒนธรรมไทโส้และสภาวัฒนธรรมอำเภอกุสุมาลย์ได้กำหนดจัดงานเทศกาลโส้รำลึกขึ้นเป็นครั้งแรก  โดยมีวัตถุประสงค์  ดังนี้
  1. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทโส้กุสุมาลย์       ให้คงอยู่สืบไป
  2. เพื่อเป็นการเผยแพร่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทโส้กุสุมาลย์  ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
  3. เพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งไปปรับปรุงศูนย์วัฒนธรรมไทโส้ให้มีมาตรฐานดียิ่งขึ้น
  4. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ที่ถือปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานาน
  5. สร้างความสัมพันธ์ปรองดองในหมู่ชนเผ่าต่างๆ ในภาคอีสานให้มีความสามัคคี
 
ประวัติความเป็นมาของอำเภอกุสุมาลย์
เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๑  ราชวงค์คำ  ได้รับแต่งตั้งเป็นประเทศธานีเจ้าเมืองสกลนคร  จึงได้นำกำลังไพร่พลไปเกลี้ยกล่อมเอาครอบครัวหัวเมืองลาวที่ค้างอยู่ทางฝากฝั่งแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออก ให้ข้ามมา  เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสนับสนุนของกองทัพญวน พ.ศ.  ๒๓๘๕  ท้างโรงกลางบุตรเจ้าเมืองวัง  ท้าวเพื้ยเมืองสูง  ท้าวเพี้ยบุตรโคตร  หัวหน้าข่ากระโซ่กับครอบครัวบ่าไพร่  ได้เข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภารเป็นจำนวนมากแล้วตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน  อยู่แถบฝั่งแม่น้ำโขงและรอบเมืองสกลนคร
พ.ศ.๒๓๘๗  พระยาประเทศธานีนำหัวหน้าครอบครัวกลุ่มต่างๆ  ลงไปเฝ้าสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ  ให้ตั้งบ้านประขาวพันนา และบ้านกุสุมาลย์ขึ้นเป็นเมือง  ให้ท้าวโรงกลางเป็นพระเสราณรงค์เจ้าเมืองพันนา  ท้าวเพี้ยเมืองสูงเป็นหลวงอรัญอาสา  เจ้าเมืองกุสุมาลย์  พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่ง  ให้ขึ้นตรงต่อเมืองสกลนคร
พ.ศ. ๒๔๐๕  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๔ ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งเมืองโพธิไพศาล  (ปัจจุบันเป็นตำบลโพธิไพศาล)  เพราะเกิดการขัดแย้งชิงตำแหน่งหน้าที่ราชการกัน  ให้ท้าวขัติยะเป็นพระยาไพศาลเสนานุรักษ์เจ้าเมืองโพธิไพศาล  และในปีเดียวกันได้ย้ายเมืองกุสุมาลย์จากเดิม  (ปัจจุบัน  คือ  บ้านเมืองเก่า)  เพราะเกิดความแห้งแล้งและเกิดโรคระบาด  มาตั้งอยู่ในที่ปัจจุบัน
พ.ศ.๒๔๑๙  หลวงอรัญอาสาได้ถึงแก่กรรม  ท้าวกิ่งบุตรชายหลวงอรัญอาสา  ซึ่งเคยไป
เรียนวิชาการปกครองจากกรุงเทพฯ  ได้เป็นเจ้าเมืองกุสุมาลย์สืบต่อและได้บรรดาศักดิ์เป็น  “พระอรัญอาสา
               พ.ศ.๒๔๓๙  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ
เปลี่ยนแปลงเมืองกุสุมาลย์  และเมืองโพธิไพศาลไปขึ้นกับเมืองนครพนม  ต่อมาเมื่อมีการส่งเจ้านายมาสำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือเมืองต่างๆ  จึงเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภอ  เจ้าเมืองดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอ
พ.ศ.๒๔๕๖ ทางราชการยุบอำเภอกุสุมาลย์  แล้วโอนท้องที่ไปขึ้นกับอำเภอเมืองสกลนคร
บ้าง  อำเภอเมืองนครพนมบ้าง  กุสุมาลย์จึงมีฐานะเป็นตำบลมาจนกระทั่ง  วันที่  ๑  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๕๐๕  จึงได้รับฐานะเป็นกิ่งอำเภอ
                พ.ศ.  ๒๕๑๐  ได้มีพระราชกฤษฎีกา  ยกฐานะกิ่งอำเภอขึ้นเป็นอำเภอ  เมื่อวันที่  ๑๔ 
พฤศจิกายน  พ.ศ.  ๒๕๑๐  มีพื้นที่  ๔๕๔  ตารางกิโลเมตร  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดสกลนคร  ระยะห่างจากจังหวัดสกลนคร  ๔๑  กิโลเมตร  ปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น  ๕  ตำบล      ๖๙  หมู่บ้าน  จำนวนประชากร  ๔๔,๓๗๘  คน  มีการปกครองในรูปของการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นเทศบาล  ๑  แห่ง  องค์การบริหารส่วนตำบล  ๕  แห่ง  ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนพื้นเมืองเผ่าไทโส้  มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง  อาชีพหลัก  คือ  การเกษตรกรรม  มีฐานะยากจน  นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่  ชาวไทโส้มีความเชื่อในเรื่องของผีและไสยศาสตร์  มีพิธีกรรมต่างๆ  ของชาวไทโส้  จึงเกี่ยวกับไสยศาสตร์ทั้งสิ้น   
 
 
 

UploadImage
UploadImage
เอกสารแนบ :